“โกลเบล็ก กรุ๊ป” ทรานสฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล รุกการให้บริการทุกมิติด้านการลงทุน เพิ่มมูลค่าการเติบโตอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์รองรับการทำธุรกิจทางการเงินและการลงทุน รองรับกลุ่มลูกค้าทุกฟังก์ชัน
นายธราภุช คูหาเปรมกิจ กรรมการผู้จัดการ บมจ.โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ (GBX) เปิดเผยว่า ภายใต้ยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่าหลายธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับการทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อยกระดับการแข่งขันให้กับธุรกิจสู่การต่อยอดในการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ให้สามารถตอบโจทย์การรองรับการทำธุรกิจทางการเงินและการลงทุนบนโลกดิจิทัลให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกฟังก์ชันอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่ง GBX ก็ให้ความสำคัญกับการทรานสฟอร์เมชัน โดยเร่งขับเคลื่อนทั้งการทำงานต่างๆ เรื่องบุคคลากร รวมถึงแนวคิดเรื่องกลยุทธ์การลงทุน เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน
ทั้งนี้ GBX ให้ความสนใจการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset)เนื่องจากในปัจจุบันสินทรัพย์ดิจิทัลมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับต้องยอมรับว่าเม็ดเงินการลงทุนที่ไหลเข้าสู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้บริษัทฯจึงเร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเพิ่มช่องทางในการลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นของลูกค้าโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์
ขณะเดียวกัน GBX ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ ในการให้บริการธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ต่างประเทศ แบบ Fractional shares เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนของลูกค้าธุรกิจหลักทรัพย์ให้สามารถกระจายการลงทุนไปยังหุ้นต่างประเทศได้ และยังเป็นการเปิดโอกาสในการได้รับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น รวมถึงสามารถกระจายความเสี่ยงของพอร์ทการลงทุน
จากทรานสฟอร์เมชันในครั้งนี้ ส่งผลให้บริษัทฯในฐานะ บริษัท Holding Company ได้มีการวางกลยุทธ์ภายในองค์กร โดยคงมุ่งเน้นการลงทุนในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนไม่น้อยกว่า 10-15 % ในภาคธุรกิจการเงินและกลุ่มที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อการต่อยอดธุรกิจหลักของบริษัท และกลุ่มบริษัทย่อย ที่ถือหุ้นอยู่ ทั้ง 3 บริษัท ประกอบด้วย
1.บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด (ถือหุ้น 99.99%)ดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์
2.บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด (ถือหุ้น 59.99%) ดำเนินธุรกิจเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และ
3.บริษัท เอเซีย อิควิตี้ เวนเจอร์ จำกัด (ถือหุ้น 99.99%) ดำเนินธุรกิจร่วมลงทุนในบริษัทอื่นๆ
“บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มพอร์ทการลงทุนของบริษัทฯ โดยศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าลงทุนในธุรกิจ หรือโครงการต่างๆ ที่มีผลตอบแทนเหมาะสมกับความเสี่ยงของการลงทุน รวมถึงการลงทุนใน Startup ที่คาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่าการลงทุนทั่วไป ทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศ พร้อมทั้งลุยขยายช่องทางการขาย รวมถึงการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจในปัจจุบันของบริษัทฯ และบริษัทย่อย เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตของทั้งรายได้และกำไรของกลุ่มบริษัทให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ทั้งในส่วนของธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์, หุ้นกู้, กองทุน,วาณิชธนกิจ และ Proprietary trading” นายธราภุช กล่าว
ด้านนายธนพิศาล คูหาเปรมกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.โกลเบล็ก (GBS) เปิดเผยว่า ในปีนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ครบรอบ 20 ปี (2 ทศวรรษ) และกำลังก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 บริษัทฯ จึงมุ่งเน้นในการพัฒนารูปแบบการให้บริการที่มีความหลากหลายด้านการลงทุน รองรับความต้องการให้กับกลุ่มลูกค้าเดิม และต่อยอดในการขยายฐานลูกค้าในกลุ่มใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทฯ เพื่อหาวิธีเพิ่มมูลค่าสอดคล้องกับการกระตุ้นการเติบโตขององค์กรด้วยรูปแบบการทรานสฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ผ่านการขับเคลื่อน 3 กลยุทธ์หลักที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับบล.โกลเบล็ก ในทศวรรษที่3 ได้ครบทุกมิติมากยิ่งขึ้น โดยแผนการขับเคลื่อนดังกล่าว ประกอบด้วย
1.การมุ่งเน้นไปในด้านการรักษาฐานลูกค้าเดิม ควบคู่กับการขยายไปยังฐานลูกค้าในกลุ่มใหม่ๆ ให้ครอบคลุมด้านการบริการในทุกมิติด้านการลงทุน เพื่อรองรับการกระจายฐานรายได้ จากเดิมที่มีการเพิ่งพารายได้จากค่าคอมมิชชัน, ค่าธรรมเนียมการเป็นที่ปรึกษาระดมทุน ทั้งการขายหุ้นให้กับนักลงทุนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และการออกหุ้นกู้ ก้าวสู่การหารายได้เพิ่มในธุรกิจใหม่ๆ เช่น Wealth Management ซึ่งเน้นกับลูกค้ากลุ่ม High Net Worth , การออกหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง หรือ Structured Note ซึ่งมุ่งเน้นลงทุนในหุ้นใน SET 50 ปัจจัยพื้นฐานดี เป็นต้น
2. ด้านวาณิชธนกิจ ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทในเครือ แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ ที่บมจ. โกลเบล็ก โฮลดิ้ง ถือหุ้น 89.99% ซึ่งสามารถสร้างโอกาสการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 65 บริษัทแคปปิตอล วันฯ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการเตรียมนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ จำนวน 6 บริษัท มูลค่าการระดมทุนรวม 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ
อาทิ ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ประเภทผลิตภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว สื่อSocial Media, ธุรกิจผลิตส่วนผสมรสชาติอาหาร เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าว อาหารกึ่งสำเร็จรูป, ธุรกิจการแพทย์, ธุรกิจการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แนวราบ และธุรกิจระบบ GPS และ IOT เป็นต้น ซึ่งธุรกิจด้านวาณิชธนกิจ จะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สร้างความคึกคักให้กับบริษัทหลักทรัพย์ รวมถึงสามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าโกลเบล็ก ที่ต้องการหุ้นIPO ได้เป็นอย่างดี
“แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะชะลอตัวไปบ้าง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ไม่ได้ส่งผลต่อแผนการเข้าระดมทุนของบริษัทเอกชนหลายๆ บริษัท และกลับมองว่า การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นแหล่งระดมทุนที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งนี้ยังทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยความโปร่งใส มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างเครือข่ายธุรกิจและเพิ่มความพร้อมในการแข่งขันได้ในอนาคตได้เป็นอย่างดี” นายธนพิศาล กล่าว
3. บริษัทฯพร้อมมองหากโอกาสการลงทุนใหม่ๆ อาทิ Digital Asset , Digital Token หรือแม้แต่การให้บริการ Blockchain ผ่านระบบ AIซึ่งทาง “โกลเบล็ก” มีการศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และพร้อมเปิดกว้างด้านความร่วมมือกับ Premium Partners ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในด้านดิจิทัล ที่มีความพร้อมทั้งในด้านของ โนว์ฮาวน์ ทีมบุคลากร และโปรดักส์ใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายมากขึ้นทั้งจากกลุ่มลูกค้าเดิม และลูกค้าใหม่
นอกจากนี้ GBS ยังต่อยอดการให้บริการด้านการลงทุน ภายใต้ “GLOBLEX ROBOTRADE” ซึ่งมีทั้งการสร้างและบริหารพอร์ตการลงทุนที่บริษัทฯมีการพัฒนาอยู่แล้ว ผ่านการการนำเทคโนโลยีระบบ AI มาช่วยบริหารพอร์ต และส่งคำสั่งซื้อขายแบบอัตโนมัติเจาะกลุ่มนักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญด้านออกแบบโปรแกรม (Programming) หรือ Robot Trade หรือแม้แต่การลงทุนผ่าน โปรแกรมเทรด “GLOBLEX ROBOTRADE” ถูกออกแบบสำหรับการลงทุนในกลุ่ม SET100 เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงด้านการลงทุน โดยนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ทั้งหมด 4 โมเดล ได้แก่
1. Growth Factor Model,
2. Quality Factor Model,
3. Valuation Factor Model และ
4. Dividend Factor Model หรือแม้แต่การพัฒนาการให้บริการ ROBOTRADE
สำหรับนักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญด้านออกแบบโปรแกรม (Programming) หรือ Robot Trade สามารถออกแบบโปรแกรมเทรดด้วยตัวเอง ซึ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เพราะการทำงานของ Robot Trade จะรวดเร็วแม่นยำ และมีการป้องกันความเสี่ยงเป็นไปตามข้อกำหนดของทางตลาดฯ ทำให้บริษัทฯ เชื่อว่า มีโอกาสสูงที่คนจะสนใจบริการดังกล่าวและสามารถสร้างโอกาสการเติบโตให้กับบริษัทฯได้ในอนาคต
ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 65 บริษัทฯ คาดว่าจะมีการเปิดตัวโปรดักส์ใหม่ด้านการลงทุน ประมาณ 1-2 โปรดักส์ ควบคู่กับการฝึกอบรมบุคคลากร เพื่อพัฒนาศักยภาพให้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการกับลูกค้าในอนาคต
อย่างไรก็ตามจากความมุ่งมั่นการดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์เหล่านี้ จะทำให้บริษัทฯ มีโครงสร้างรายได้ที่มีการกระจายตัวหลากหลายมากขึ้น ไม่ต้องพึ่งธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเป็นหลักเพียงอย่างเดียว โดยปัจจุบัน โกลเบล็ก มีสัดส่วนรายได้ค่านายหน้าจากธุรกิจหลักทรัพย์ประมาณ 53.92% จากบัญชีลูกค้าเคลื่อนไหว 7,000 บัญชีโดยประมาณ, รายได้จากค่าธรรมเนียม รายได้จากการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน และรายได้อื่นๆ ประมาณ 46.08% ซึ่งการที่มีรายได้ที่กระจายช่วยเสริมฐานรายได้ที่มั่นคงให้แก่โกลเบล็ก เพื่อก้าวสู่ปีที่ 21 อย่างยั่งยืนภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างเคร่งครัดต่อไป
อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/money_market